วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เจริญสติ คืออะไร (ตอนที่ 2)

จากตอนที่ 1 ท่านคงเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมว่า อย่างไรที่เรียกว่า "หลง" อย่างไรที่เรียกว่า " ไม่หลง".. 

ผู้เขียนขออธิบายนิยามของคำว่า "หลง" แบบง่ายๆ อย่างนี้นะครับ "สิ่งที่เรากำลังทำทั้งทางกายและทางใจ แล้วที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ทำขณะนั้น ถือว่า "หลง" ทั้งหมด.. ( ขออภัยผู้อ่านที่อ่านมาถึงตอนนี้แล้วยัง งง ขอให้อ่านไปเรื่อยๆ ก่อนนะครับ)

ก่อนที่จะยกตัวอย่าง ขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า "หลง" ในทางพุทธ ก่อนนะครับ ว่าช่องทางที่หลงมีทางไหนบ้าง
- หลงทางหู จากการได้ยิน
- หลงทางตา จากการเห็น
- หลงทางจมูก จากการได้กลิ่น
- หลงทางลิ้น จากการรสชาติ
- หลงทางกาย จากการสัมผัสทางกาย
- หลงทางใจ จากความคิด

สำหรับตัวอย่างนี้ ผู้เขียนขอออกตัวก่อนนะครับ เป็นการยกตัวอย่าง แบบผู้ที่เริ่มต้นใหม่จริงๆ นะครับ สำหรับท่านที่เข้าใจสภาวะของความรู้สึกแล้ว รบกวนอย่าเพิ่งตำหนิกันนะครับ.. สมมติว่า ท่านกำลังรับประทานข้าวอยู่ แล้วเกิดสภาวะในระหว่างรับประทานอาหารขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสภาวะต่อไปนี้พออนุโลมว่ายังไม่หลงเช่น รับรู้รสชาติเค็ม เห็นจานที่สวย ได้กลิ่นอาหารที่หอมมาก เคี้ยวข้าวแล้วรู้สึกว่าข้าวแข็งไปหน่อย ได้ยินเสียงดังในร้านอาหาร.. สำหรับตัวอย่างสภาวะต่อไปนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างรับประทานอาหาร ที่ผู้เขียนขอเรียกสภาวะเหล่านี้เป็นหลงทั้งหมด เช่น ท่านเห็นรถที่ผ่านหน้าร้าน มีความคิดว่าร้านนี้ไม่น่าขายได้ดีขนาดนี้เลย เพราะรสชาติไม่ได้เรื่อง มีความคิดว่่าข้าวร้านนี้คงใช้ข้าวราคาถูกแน่ๆ ข้าวถึงได้แข็งขนาดนี้ มีความคิดว่าทานข้าวเสร็จแล้ว จะไปซื้อขนมกินอีก นั่งกระดิกขา เวลารับประทานอาหาร อ่านหนังสือพิมพ์พร้อมกับรับประทานอาหาร..

จากตัวอย่าง ท่านคงพอจะเริ่มเห็นแล้วว่า.. แม้นว่าเรากำลังรับประทานอาหารอยู่ แต่เราจะพบว่าเกิดสภาวะหรือกิจกรรมอื่นมากมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่เลย.. และถ้าสังเกตุลงไปอีกจะเห็นว่าช่องทางที่เราหลงมากที่สุดก็คือ ทางใจ หรือ "ทางความคิด" นั่นเอง

ดังนั้นเมื่อมีช่องทางหลงหลายทางอย่างนี้.. ถ้าจะต้องคอยระวังไม่ให้หลงทุกช่องทาง.. คงจะบ้าไปเสียก่อนแน่.. งั้นเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ยอมหลง ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เราจะฝึกรู้สภาวะที่เกิดทางใจ.. โดยสำหรับผู้ที่เริ่มต้น ให้ฝึกรู้สภาวะที่เกิดขึ้นทางความคิดที่แปลกปลอมจาก กิจกรรมที่อยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นหลักก่อน เมื่อเกิดความชำนาญขึ้น ท่านจะเริ่มรู้ถึงสภาวะอื่นๆ ที่นอกเหนือความคิดได้ ซึ่งตอนนี้ผู้เขียนขอให้ท่านใจเย็นๆ ทำแบบนี้ไปก่อนเพื่อให้เข้าสภาวะ "หลง" อย่างแท้จริงขึ้นมาก่อนนะครับ

ผู้เขียนขอกลับไปที่ตัวอย่างข้างบนอีกครั้ง ท่านจะเห็นว่า ความคิดนั้นมันจะ ไปอยู่ในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง อยู่กับปัจจุบันบ้างแต่ไปใส่ความเห็น ใส่คุณค่าเช่นชอบ-ไม่ชอบ ลงไปในความคิดด้วย จึงเป็นสภาวะของการ "หลง" ทางความคิดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าหลงไปคิด ก็ให้กลับมาอยู่ กับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ ไม่ต้องไป โมโห ดีใจ หรือวิเคราะห์ อะไรทั้งสิ้น แค่รู้ว่าหลงก็พอ (แค่รู้ว่าหลงนะพอทำได้ แต่คำว่า "ก็พอ" นี้สิ ทำไม่ค่อยได้ ผู้เขียนไม่ขอบอกนะครับ ลองทำดูก่อน แล้วจะรู้เองว่าทำไม)

เมื่อท่านเริ่มฝึกเจริญสติ และเริ่มเข้าใจกับสภาวะหลงแล้ว ท่านจะเกิดสภาวะหนึ่งขึ้นมา ที่เรียกว่า สภาวะของการยอมรับไม่ได้ว่า ทำไมเราถึงหลงบ่อยขนาดนี้ ทำไมเราถึงควบคุมมันไม่ได้ จึงเกิดความตั้งใจขึ้นมา หรือเรียกว่า "ดักดู" เพื่อจะได้เห็นว่า เมื่อมีความคิดโผล่มาเมื่อไหร่ จะรู้ทันทีว่าหลงไปคิดแล้ว จะได้ไม่หลงนาน.. ผู้เขียนขอรีบเตือนไว้ก่อนเลยนะครับ เป็นวิธีการที่ผิด เพราะนั้น เราจะมีความรู้สึกว่า จะไม่เห็นสภาวะอะไรเกิดขึ้นเลย เหมือนกับว่า ไม่หลงเลย หรือรู้สึกตัวตลอดเวลา.. โดยที่สภาวะมันจะนิ่งๆ เบลอๆ แน่นๆ หนักๆ หรือที่ทางพุทธเรียกว่า "เพ่ง" ซึ่งไม่ตรงกับนิยามของคำว่า "พุทธ"..

สำหรับสภาวะ " เพ่ง" ที่กล่าวถึงนั้น สำหรับคนเมือง และเป็นนักคิดแบบท่านผู้อ่านหลายๆท่าน รวมทั้งผู้เขียนด้วยแล้ว.. ขอบอกคำเดียวว่า ช่วงเริ่มต้น ไม่ต้องไปห่วงว่าจะ "เพ่ง" หรือปล่าวนะ.. เพราะธรรมชาติของจิตของคนเหล่านี้ ไม่ค่อยอยู่นิ่งอยู่แล้ว เพราะมีสิ่งกระทบมากมาย ถ้าเปรียบเสมือนก็ประเภทลิงศาลพระกาฬ มีอะไรผ่านมา กระโดดเกาะหมด มีของใหม่ก็ทิ้งของเก่า พอไม่ชอบก็ทิ้ง เป็นจิตที่หิวอยู่ตลอดเวลา.. ดังนั้นเมื่อท่านที่ฝึกมาแล้ว มีความรู้สึกว่าเพ่งหรือปล่าว ให้จัดสภาวะนี้เป็นหลงได้เลย เพราะนั้นหมายความว่า เรากำลังคิดว่าเพ่งหรือปล่าว หรือเราหลงไปกับความคิดเรียบร้อยแล้ว..

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ คงพอจะช่วยให้ท่าน ที่อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะเริ่มสนใจที่จะเจริญสติ กันบ้างแล้วนะครับ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ถ้าผู้เขียนจะบอกว่า การเจริญสติ นี้เป็น การปฎิบัติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจหรือเพิ่มความเบื่อหน่ายเข้าไปอีก หรือปล่าว แต่เจตนาของผู้เขียนสำหรับบทความนี้เพียงแค่นำเสนอว่า การปฎิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่ต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ ก่อนเสมอไป..

บทความต่อไป.. จะลองยกตัวอย่างวิธีเจริญสติ.. ในแบบต่างๆ ของผู้เขียนเอง.. เผื่อจะตรงกับจริตของบางท่านบ้าง แล้วเจอกันใหม่ครับ

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เจริญสติ คืออะไร (ตอนที่ 1)

จากบทความที่แล้วๆ มาจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนจะกล่าวถึง "สติ" บ่อยมาก..

เหตุที่ผู้เขียนทำไมต้อง พูดถึงสติบ่อย เพราะเป็นเส้นทางที่จะนำเราสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์นั่นเอง..

ก่อนที่จะเขียนต่อไป.. สติที่กล่าวถึงในบทความนี้ ไม่ใช่สติที่ใช้ในทางโลกนะครับ.. สติทางโลกที่เราเข้าใจกันได้แก่ ขับรถได้ เดินข้ามถนนได้ อ่านหนังสือได้ เป็นต้น แต่เป็นสติในทางพุทธศาสนา จะเป็นสติที่จะเห็นสภาวะ ทีี่เกิดขึ้นที่กายที่ใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เพื่อจิตจะเกิดการเรียนรู้ว่า กายกับใจนี้ ตกอยู่ได้ "ไตรลักษณ์" ทั้งสิ้น หรือเรียกการฝึกจิตนี้ว่า "วิปัสสนา" ที่ก่อให้ จิตมีปัญญาขึ้นมาได้ หรือที่เรียกว่ามี "สัมมาฐิทิ"

การเจริญสติที่จะกล่าวถึงในบทความนี้.. ผู้เขียนขอออกตัวไว้ก่อนนะครับ.. เนื่องด้วยผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้ที่มีจริตในทางสมถกรรมฐาน ที่จะฝึกจิตให้สงบนิ่งจนเข้า ฌาน ได้(เขียนคำนี้ที่ไร หาตัว ฌ เฌอ ไม่เคยเจอสักที) และเมื่อออกจากฌานแล้ว ด้วยกำลังของสมาธิของการเข้าฌาน จะมีจิตผู้รู้ขึ้นมา ซึ่งจิตผู้รู้นี้ จะได้นำมาเรียนสภาวะที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ หรือการเจริญวิปัสสนา.. (ขอเขียนสั้นๆ นะครับเพราะมีความรู้เท่านี้)

ดังนั้นเมื่อจริตของผู้เขียนไม่ได้เดินในแนวนั้น ผู้เขียนจึงต้องอาศัย เจริญสติในชีวิตประจำวันแทน เพื่อเป็นการฝึกจิต ให้จำสภาวะที่เกิดขึ้นกับการกับใจ จนเกิดความเคยชิน เมื่อเกิดสภาวะเดิมบ่อยๆ จิตจำเริ่มสภาวะได้ เมื่อเกิดสภาวะแบบนั้นอีก สติจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แบบไม่ได้จงใจหรือตั้งใจ ที่เราเรียกว่า สติอัตโนมัติ หรือจิตตั้งมั่นแบบเป็นขณะ (หรือเรียกว่า ขณิกสมาธิ) ขึ้นมา ซึ่งเป็นจิตที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการ เจริญวิปัสสนา ได้เช่นเดียวกัน

การที่เราจะฝึกเจริญสตินั้น.. สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องรู้สึกตัวให้เป็นก่อน.. จากบทความ "คำว่า "รู้สึกตัว" เป็นอย่างไร" ท่านผู้อ่่านจะเห็นได้ว่า "รู้สึกตัว" เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก เพราะการจะแยกระหว่างรู้สึกตัวกับความคิดไม่ใช่จะทำได้ง่ายเลย

แต่ด้วยพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านได้เมตตาแนะนำว่า วิธีที่จะรู้สึกตัวให้เป็นนั้น เราสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับคำว่า "รู้สึกตัว" ซึ่งก็คือ "ไม่รู้สึกตัว" หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า "หลง" นั่นเอง

สำหรับคำว่า "หลง" นั้นเป็นคำหรือสภาวะที่ทุกท่านหรือทุกคนในโลกนี้ไม่ค่อยยอมรับกัน.. เพราะจะมีความเข้าใจว่า สติทางโลก ที่กล่าวไปแล้วนั่นแหละ เป็นเครื่องรับรองอยู่แล้วว่า ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยหลงกันเลย..

เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจ กับคำว่าหลง ผู้เขียนขอลอง สอบถามท่านผู้อ่านกันดูว่า ท่านเคยทำหรือเป็นแบบนี้บ้างไหม..

- ตื่นนอนมา ความรู้สึกแรก ที่สะดุ้งตื่น คิดถึงเรื่องที่ฝัน คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ หยิบมือถือมาเล่นอินเตอร์เน็ต
- ตอนถ่ายทุกข์ คิดถึงเรื่องที่ฝัน คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ หยิบมือถือมาเล่นอินเตอร์เน็ต
- ตอนแปรงฟัน คิดถึงเรื่องที่ฝัน คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ ดูหน้าตัวเองในกระจก
- ตอนทานข้าว คิดถึงรสชาติอาหารที่แสนอร่อย คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ หยิบมือถือมาเล่นอินเตอร์เน็ต

ผู้เขียนของยกตัวอย่างเท่านี้.. ไม่ทราบว่าท่านใดเคยทำแบบนี้บ้างหรือปล่าว.. ถ้าเคย ในทางธรรม พฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่าหลงทั้งหมด เพราะ ท่านนั้นไม่รู้สึกตัวจากสภาวะของกายและใจ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยที่ท่านไม่ได้สนใจว่า..

- พอสะดุ้งตื่นมา ไม่รู้ว่าร่างกายเรานอนตะแคงอยู่หรือนอนหงายอยู่
- ไม่รู้ว่าถ่ายทุกข์วันนี้กว่าจะถ่ายออก ใช้เวลานานไหม ออกมาก ออกน้อยหรือปล่าว
- ไม่รู้ว่าแปรงฟัน เริ่มจากบริเวณไหนก่อน บนหรือล่าง ตอนจะเสร็จ จบที่บริเวณไหน
- ไม่รู้ว่าคำแรกเคี้ยวข้าวด้านไหน คำสุดท้ายรสชาติเป็นอย่างไร

บางท่านอาจจะเริ่มเถียงว่ายังจำได้.. แต่ช้าก่อนจากนิยามของ "รู้สึกตัว" เราจะต้องรู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ในปัจจุบันขณะหรือปัจจุบันสันตติ (รู้ตามแบบติดๆ) ดังนั้น ถ้าเราหลุดจากนิยามนี้แล้ว นั่นแหละท่านได้ "หลง" ไปเรียบร้อยแล้ว หวังว่าท่านผู้อ่าน มาถึงตรงนี้ คงพอจะเริ่มยอมรับบ้างแล้วนะ.. มันหลงตลอดเวลาจริงๆ

ผู้เขียนเอง ก็ชักเริ่มกลัวว่า ผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้.. อาจจะเริ่มงง.. รู้สึกตัวก็เข้าใจยาก.. หลงก็หลงตลอด.. แล้วมันเจริญสติอย่างไรละเนี้ย.. อาจจะเริ่มท้อ และดูว่ามันคงจะยากแล้วสำหรับในชีวิตนี้ที่จะทำได้.. 

ขอบอกทุกท่านได้เลยครับว่า.. คำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรงแนะนำสั้งสอนให้แก่มนุษย์ ธรรมดาอย่างพวกเรานี้แหละครับ เพียงแค่ใครจะได้มากได้น้อย อยู่ที่เหตุปัจจัย ที่ได้สะสมมาแต่ละท่าน แต่สิ่งที่แน่ๆว่า คำสอนของท่านไม่เนินช้า ทำน้อยได้น้อยทำมากได้มาก ไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่มีโชคไม่มีฟลุ๊ก 

ด้วยความหมายของคำว่า "พุทธ" หรือ "ผู้รู้"  ดังนั้นหน้าที่ของชาวพุทธ ก็คือมีหน้าที่รู้.. แล้วรู้อะไร.. ก็รู้ว่า "หลง" ก็พอแล้ว.. ไม่ต้องดัดแปลงหรือทำอะไรบางอย่างที่นอกเนื่องจากรู้ เพราะนั่นเป็นการกระทำที่หลุดจากคำว่า "พุทธ" ไปแล้ว

ขอกลับมาที่ "หลง" กัน.. ปกติเราจะหลงกันเป็นพื้นอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดเราไปรู้ว่าเรากำลังหลงอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นละ.. แสดงว่าหมายตอนนั้น เราไม่หลง ใช่หรือไม่ ซึ่งเมื่อเราไม่หลง เรากำลัง "รู้สึกตัว" ใช่หรือปล่าว.. 

ผู้เขียนเข้าใจว่า ท่านผู้อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะเริ่ม งง แล้ว ลองอ่านอีกรอบนะ.. แต่ไม่ต้องเข้าใจมากครับ อ่านเล่นๆ ไปเรื่อยๆ เพราะเวลาจะเข้าใจ มันก็จะเข้าใจเอง ขอจบไว้ตรงนี้ก่อน โปรดติดตามตอนที่ 2 ต่อไปนะครับ