การเจริญสติแบบที่สอง หรือที่เรียกว่า การเจริญสติในชีวิตประจำวัน..
การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่่งที่สำคัญมาก เพราะเราต้องทำมาหากิน ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับโลกใบนี้ ดังนั้นการที่จะไปการเจริญสติในรูปแบบ ตามที่กล่าวไปในบทความที่แล้ว ตลอดทั้งวัน คงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้แน่.. ดังนั้นเราจึงต้องมีการฝึกแบบนี้ด้วย
ตามจริงก็ทำเหมือนการฝึกเจริญสติในรูปแบบ เพียงแค่เปลี่ยนวิหารธรรมมาเป็นกิจกรรมที่เราทำ ณ เวลานั้นเป็นเครื่อง กำหนดขอบเขตการหลงของจิตแทน หรือถ้าช่วงไหนที่ไม่ได้มีกิจกรรมทำก็เอา วิหารธรรมที่เราฝึกในรูปแบบมาเครื่องอยู่แทน..
การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น.. มีเวลาที่ควรยกเว้นการฝึกเจริญสติได้แก่เวลาที่นอนหลับและ เวลาที่เราต้องทำงานในการใช้ความคิด เช่น สอนหนังสือ ออกแบบ ประชุม หรือสนทนากับคนอื่น เพราะการเจริญสตินั้น จิตจะมารู้สึกตัวทุกครั้งเรารู้ว่าหลง ซึ่งในขณะที่เราทำงานหรือพูดคุยกับคนอื่นอยู่นั้น เราจะต้องความคิด ซึ่งถ้าเราไปรู้สึกตัว ตอนนั้นเราไม่คิด ทำให้บางครั้ง เราจะไม่สามารถปะติดปะต่อ การเจรจาหรืองานที่กำลังทำอยู่นั้นได้..
แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะปล่อยให้หลงตั้งแต่ เริ่มงานแปดโมงเช้า ถึงห้าโมงได้นะครับ เพราะในความเป็นจริง เราไม่ได้ทำงานหรือคุยกับคนอื่นทั้งวัน ดังนั้น ช่วงเวลาที่ เดินจากที่จอดรถมาที่ห้องทำงาน ช่วงเวลาที่เดินไปชงกาแฟ ช่วงเวลที่เดินเข้าห้องน้ำ ช่วงเวลาที่เดินไปทานข้าวกลางวัน ช่วงเวลาที่ทานข้าว ช่วงเวลาเดินจากที่ห้องทำงานไปที่จอดรถ..
นี่แค่กล่าวถึงที่ทำงานนะ ยังไม่ได้รวมตั้งแต่ตอนตื่นนอน แปรงฟัน แต่งตัว ทานข้าวเช้า ขับรถหรือนั่งรถไปกลับที่ทำงาน ออกกำลังกายตอนเย็น อาบน้ำ ทานข้าวเย็น นั่งดูโทรทัศน์.. จะเห็นได้ว่าเวลาที่จะฝึกเจริญสติมีเวลาเยอะมาก (แต่เอาเข้าจริงๆ วันหนึ่งรู้ว่า "หลง" สักครั้งสองครั้ง ก็ดีใจแทบแย่แล้ว)
ลองฝึกดูนะครับ.. ช่วงแรกๆ อาจจะดูยุ่งยาก แต่ขอให้จำว่า หน้าที่ของเราเพียงแค่ "รู้" แต่ที่เรารู้สึกว่ายุ่งยากส่วนหนึ่งมาจาก เราอยากดี จึงยอมรับไม่ค่อยได้กับการหลง จึงไปวุ่นวายที่จะจัดการกับสภาวะ "หลง"
เมื่อไหร่ที่เรายอมรับได้ว่า "หลง" หรือ "ไม่หลง" มันก็เป็นสภาวะหนึ่งเท่านั้น เราก็จะรู้ได้ว่า การเจริญสติ นั้นไม่ง่ายจริงๆ
เจริญในธรรมนะครับ..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น