วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สอนสภาวะ หลง กับลูกๆ

จากบทความเกี่ยวกับ การเจริญสติและรู้สึกตัว.. เพียงเรารู้ว่าหลงก็ รู้สึกตัวเป็นแล้ว และฝึกรู้ว่าหลงไปเรื่อยๆ ก็คือการเจรอญสตินั่นเอง.. ท่านผู้ที่เริ่มฝึกแล้วจะเห็นว่า ไม่ยากเลย.. ดังนั้นในบทความนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างของการสอน ลูกๆของผู้เขียนเองให้รู้จัก สภาวะหลง ลูกของผู้เขียนตอนเริ่มฝึก มีอายุ 6 ขวบกับ 9 ขวบ..

เด็กอายุขนาดนี้ไม่ต้องบอกก็รู้นะครับว่า.. ให้อธิบายคำว่า "หลง" แบบบทความที่กล่าวมาแล้ว คงทำไม่ได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงใช้วิธี "ทัก" ไปที่ตัวเด็กตรงๆ ว่าแบบนี้เรียกหลงนะ ทำบ่อยๆ เข้าก็ ไม่ต้องพูด แค่แตะตัวก็รู้ละ บางครับแค่ยิ้มก็เริ่มละ ว่าตัวเองหลงแล้ว..

กิจกรรมแรก.. ที่่แนะนำครับ ใช้เวลาก่อนนอน ในช่วงที่ปิดไฟแล้ว แต่ยังไม่หลับกัน ชวนเด็กๆ ที่กำลังนอน แต่ยังไม่หลับ มาเล่นเกมส์ โดยมีกติกาว่า ใครพูดถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับ ห้องนอน ถือว่า "หลง" เพราะปกติเด็กๆ เวลาจะนอนจะพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนมากเด็กจะชอบพูดถึงเรื่องเกมส์ เรื่องเพื่อน เรื่องโรงเรียน

พอเราตั้งกฏนี้ขึ้นมา เด็กจะเงียบ แต่สักพัก เขาจะเริ่มพูดเรื่องที่เขาคิดขึ้นมาซึ่งแน่นอน ไม่ใช่เรื่องในห้องนอนอยู่แล้ว เราลองทักแค่สักครั้ง สองครั้ง เด็กอาจจะงงอยู่บ้าง เราต้องอธิบายว่า พูดเรื่ิองอะไรที่เรียกว่าไม่หลง เช่น ห้องนี้หนาวจัง หมอนนี้นุ่มจัง ห่มผ้าห่มแล้วร้อน สักพักก็ลองเริ่มกันใหม่ เด็กจะเงียบนานขึ้น สักพักเด็กจะขอต่อรองที่จะขอหลงโดย ขอเล่าเรื่องนอกห้องนอน เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ก็จะสอนว่า ไม่ได้ห้ามไม่ให้หลง.. ขอแค่ให้รู้ว่าหลงก็พอ แต่เมื่อไหร่ ที่เขาเล่าเรื่องใหม่ที่เกี่ยวกับเรื่องนอกห้อง เราจะต้องรีบทักทันทีว่า หลงไปแล้วนะ เพราะไม่ได้ขออนุญาติหลงก่อน ทำแค่วันละ 2-3 ครั้งก็พอแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นเด็กอาจจะเครียดได้ จนไม่ยอมนอนได้เลย

กิจกรรมต่อไป "ทานข้าว".. กิจกรรมนี้ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ ทำได้หมด ทำกติกาเหมือนแบบในห้องนอน กำหนดขอบเขตว่าเรากำลังทานข้าวกัน ดังนั้น เรื่องราวที่พูด ท่าทาง ต้องอยู่ในกิจกรรมของการทานข้าวเท่านั้น เหมือนเดิมเด็กจะชอบเล่าเรื่ิองโน้นเรื่องนี้เหมือนเดิม เราก็มีหน้าที่คอยทัก แรกๆ เด็กจะ งง แต่สักพักเด็กจะเข้าใจ ซึ่งบางที เราต้องคอยสังเกตุ ท่าทางหรือพฤติกรรมเขาด้วยว่า กำลังเหม่อ มือจับของเล่น อยู่หรือปล่าว แล้วคอยทักเขา เป็นระยะ แต่ไม่ต้องบ่อยมาก ต้องคอยดูอารมณ์ ของเด็กด้วยว่า เขาเริ่มหงุดหงิดต้องรีบเลิก และต้องชวนคุยว่า การที่เราหลงบ่อยนะดี ส่วนการหลงนานนะไม่ดี โดยไม่ต้องอธิบายให้มากมาย ให้คอยชมทุกครั้งที่เราทักแล้วเขายอมรับโดยไม่มีอารมณ์หงุดหงิด

ขออีกกิจกรรมนะครับ.. ตอนอยู่ในรถส่วนมาก จะเล่นเฉพาะตอนติดไฟแดง ขอบเขตคือเรื่องที่เกี่ยวกับในรถ ซึ่งคราวนี้เด็กจะหลงได้หลายรูปแบบมาก เพราะมีสิ่งที่เกิดขึ้นนอกรถมากมาย แล้วเด็กสามารถ เห็น ได้ยิน ตลอดเวลา ดังนั้นเราอาจไม่ต้องทักตลอด แค่ทักเป็นบางครั้งก็พอ

เมื่อเราฝึกเขาสักพักหนึ่ง ซึ่งลูกของผู้เขียนเอง นานๆครั้ง ที่เด็ก จะพูดขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งกติกาว่า หลงอีกแล้ว.. ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังอะไรมากเพราะ เพียงเพื่อให้ลูกรู้จัก สภาวะหลงก้บไม่หลง ต่างกันอย่างไร.. แค่นี้ก็ เรียกว่าพาลูกปฎิบัติธรรมแล้ว

หวังว่าท่านผู้อ่านคงมีกำลังใจขึ้นมาบ้างนะครับ สำหรับการปฎิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ขอให้ทำตั้งแต่วันนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าหนทางที่เราเดินนี้ยังอยู่อีกไกลแค่ไหน..

ขอให้กำลังใจทุกท่านครับ

1 ความคิดเห็น: