วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556
กิจวัตรประจำวัน กับ การเจริญสติ ตอนที่ 2
การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่่งที่สำคัญมาก เพราะเราต้องทำมาหากิน ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับโลกใบนี้ ดังนั้นการที่จะไปการเจริญสติในรูปแบบ ตามที่กล่าวไปในบทความที่แล้ว ตลอดทั้งวัน คงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้แน่.. ดังนั้นเราจึงต้องมีการฝึกแบบนี้ด้วย
ตามจริงก็ทำเหมือนการฝึกเจริญสติในรูปแบบ เพียงแค่เปลี่ยนวิหารธรรมมาเป็นกิจกรรมที่เราทำ ณ เวลานั้นเป็นเครื่อง กำหนดขอบเขตการหลงของจิตแทน หรือถ้าช่วงไหนที่ไม่ได้มีกิจกรรมทำก็เอา วิหารธรรมที่เราฝึกในรูปแบบมาเครื่องอยู่แทน..
การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น.. มีเวลาที่ควรยกเว้นการฝึกเจริญสติได้แก่เวลาที่นอนหลับและ เวลาที่เราต้องทำงานในการใช้ความคิด เช่น สอนหนังสือ ออกแบบ ประชุม หรือสนทนากับคนอื่น เพราะการเจริญสตินั้น จิตจะมารู้สึกตัวทุกครั้งเรารู้ว่าหลง ซึ่งในขณะที่เราทำงานหรือพูดคุยกับคนอื่นอยู่นั้น เราจะต้องความคิด ซึ่งถ้าเราไปรู้สึกตัว ตอนนั้นเราไม่คิด ทำให้บางครั้ง เราจะไม่สามารถปะติดปะต่อ การเจรจาหรืองานที่กำลังทำอยู่นั้นได้..
แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะปล่อยให้หลงตั้งแต่ เริ่มงานแปดโมงเช้า ถึงห้าโมงได้นะครับ เพราะในความเป็นจริง เราไม่ได้ทำงานหรือคุยกับคนอื่นทั้งวัน ดังนั้น ช่วงเวลาที่ เดินจากที่จอดรถมาที่ห้องทำงาน ช่วงเวลาที่เดินไปชงกาแฟ ช่วงเวลที่เดินเข้าห้องน้ำ ช่วงเวลาที่เดินไปทานข้าวกลางวัน ช่วงเวลาที่ทานข้าว ช่วงเวลาเดินจากที่ห้องทำงานไปที่จอดรถ..
นี่แค่กล่าวถึงที่ทำงานนะ ยังไม่ได้รวมตั้งแต่ตอนตื่นนอน แปรงฟัน แต่งตัว ทานข้าวเช้า ขับรถหรือนั่งรถไปกลับที่ทำงาน ออกกำลังกายตอนเย็น อาบน้ำ ทานข้าวเย็น นั่งดูโทรทัศน์.. จะเห็นได้ว่าเวลาที่จะฝึกเจริญสติมีเวลาเยอะมาก (แต่เอาเข้าจริงๆ วันหนึ่งรู้ว่า "หลง" สักครั้งสองครั้ง ก็ดีใจแทบแย่แล้ว)
ลองฝึกดูนะครับ.. ช่วงแรกๆ อาจจะดูยุ่งยาก แต่ขอให้จำว่า หน้าที่ของเราเพียงแค่ "รู้" แต่ที่เรารู้สึกว่ายุ่งยากส่วนหนึ่งมาจาก เราอยากดี จึงยอมรับไม่ค่อยได้กับการหลง จึงไปวุ่นวายที่จะจัดการกับสภาวะ "หลง"
เมื่อไหร่ที่เรายอมรับได้ว่า "หลง" หรือ "ไม่หลง" มันก็เป็นสภาวะหนึ่งเท่านั้น เราก็จะรู้ได้ว่า การเจริญสติ นั้นไม่ง่ายจริงๆ
เจริญในธรรมนะครับ..
กิจวัตรประจำวัน กับ การเจริญสติ ตอนที่ 1
การเจริญสติ มีด้วยกัน 2 แบบ ซึ่่งจะต้องทำควบคู่กัน.. แบบแรกเรียกว่า "การเจริญสติในรูปแบบ" แบบที่สองเรียกว่า "การเจริญสติในชีวิตประจำวัน"
การเจริญสติในรูปแบบ.. เป็นการฝึกที่่ต้องอาศัยสถานที่พอสมควรเพื่อตัดปัจจัย ที่จะผลต่อการฝึกเจริญสติ เช่น ควรหลีกเลี่ยงพบปะผู้คน มีความเงียบพอสมควร บรรยากาศเหมาะแก่การฝึกเจริญสติ สำหรับสถานที่ของผู้เขียนเองก็ ในบ้านนั่นแหละ เช่นในห้องนอนหลังจากที่เด็กๆ หลับกับหมดแล้ว สนามหน้าบ้านตอนเช้า ที่ยังไม่มีคนพลุกพล่านมาก
จุดประสงค์ของการฝึกเจริญสติในรูปแบบเพื่อให้จิต ได้มีกำลังที่จะได้ใช้ กับการเจริญสติในรูปแบบที่สอง อีกทั้งยังเป็นฝึกซ้อมให้จิตได้รู้ถึงสภาวะ ของการรู้สึกตัวกับความคิด(หรือหลง) ได้เด่นชัดขึ้น
วิธีการฝึกเจริญสติในรูปแบบ.. สิ่่งแรกที่ผู้ปฏิบัติทุกคนต้องค้นหาให้ได้คือ หา" วิหารธรรม" ที่เหมาะกับตัวเอง และเกี่ยวเนื่องกับกายกับใจ..
มาเข้าใจกับคำว่า "วิหารธรรม" กันก่อน.. วิหารธรรมคือเครื่องอยู่ ของจิต หรืออารมณ์ (สิ่งที่จิตไปรู้) ที่จะเป็น ตัวกำหนดหรือขอบเขต ที่จะบอกว่าตอนนี้จิตกำลัง "หลง" หรือยัง "ไม่หลง" ซึ่งก็เหมือนกับที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่าง ในบทความ ที่สอนสภาวะหลงให้กับเด็กๆ
วิหารธรรม.. ที่เกี่ยวเนื่องกับการกับใจเช่น รู้สึกถึงลมหายใจ รู้สึกถึงท้องพองยุบ ท่องพุทโธ ขยับแขนเป็นจังหวะ เดินจงกรม.. ในระยะแรกลอง ทำในสิ่งตัวเองชอบก่อน.. แล้วสังเกตุดูว่า สบาย ไม่อึดอัด และทำได้นานไหม ถ้าใช่นั่นแหละคือวิหารธรรมที่น่าจะเหมาะกับเราแล้ว แต่ถ้าวิหารธรรมใดทำแล้วรู้สึกว่า อึดอัด หรือรู้สึกว่าเป็นภาระที่จะต้องทำ ผู้เขียนขอแนะนำให้เปลี่ยนนะครับ แต่อย่างไรก็ตามต้องลองสังเกตุให้ดีด้วยว่า ชอบจริง สบายจริง อึดอัดจริง หรือปล่าว เพราะบางที่ก็เจอกิเลสหลอกเหมือนกัน เช่นตอนแรกดี แต่พอสักพัก เริ่มไม่ดีอีกละ ต้องจำไว้เสมอว่า กิเลสของเรานั้น จะทำอย่างไรก็ได้ ให้เราเลิกทำ..
ถ้าท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปอ่าน บทความเก่าๆ ของผู้เขียน จะเห็นว่าผู้เขียนเองก็ดิ้นรนที่จะหาวิหารธรรมของตัวเองให้เจอ.. ซึ่งวิหารละธรรมของผู้เขียนจะเป็น การรู้สึกถึงท้องที่เคลื่อนไหว ไม่แน่ใจว่าเรียก ท้องพองยุบหรือปล่าว เพราะไม่ได้ไปรู้สึกถึงว่า ท้องพองหรือท้องยุบ แต่รู้สึกถึงแค่ท้องมีการเคลื่อนไหว การที่รู้สึกบริเวณนี้แล้วไม่ได้อึดอัด และสามารถกลับมารู้สึกตัวหลังจากที่หลงไปแล้วได้ง่าย กว่า วิหารธรรมแบบอื่น (แอบกระซิบหน่อยนะ.. การหาวิหารธรรมนั้น ควรคิดถึงตอนใกล้ตายด้วยว่า ว่าเรากำลังจะตาย เราสามารถใช้วิหารธรรม ที่เราฝึกได้หรือปล่าว)
วิธีการต่อไปนี้เป็นวิธีการที่ผู้เขียนทำอยู่ทุกวันนะครับ.. เวลาที่จะเจริญสติในรูปแบบ สิ่งแรกที่ควรทำคือ สวดมนต์ แล้วตั้งใจว่าเราจะฝึก ประมาณ 10-15 นาที (บางท่านอาจจะทักว่า น้อยไปหรือปล่าว.. ผู้เขียนยอมรับว่าน้อยไปแต่ ผู้เขียนได้ตกลงกับตัวเองแล้วว่า ถึงจะน้อยแต่ทำทุกวัน ไม่ว่าจะขี้เกียจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องทำทุกวัน เพื่อที่จะได้ไม่ยอมแพ้กิเลส ที่จะพยายามอ้างเหตุผล ให้เราเลิกฝึกนั่นเอง)
โดยที่ช่วงสวดมนต์ ก็เริ่มฝึกเจริญสติแล้ว เพราะใช้บทสวดมนต์ เป็นวิหารธรรม พอสวดมนต์เสร็จ ก็จะนั่งสมาธิ ที่เราคิดว่าสบายที่สุด นั่งรู้สึกถึงท้องที่เคลื่อนไหว แล้วพอสักพัก จิตจะเริ่มหลงไปคิดเรื่องงาน เรื่องในอดีต เรื่องที่เราไม่สบายใจ เรื่องต่างๆ มากมาย ซึ่งหน้าที่เราก็คอยรู้ตาม ว่าจิตหลงออกจาก ความรู้สึกที่ท้อง เมื่อแค่รู้ว่าจิตหลงออกไปแล้ว จิตก็จะมารู้สึกอยู่ที่ท้องเหมือนเดิม ทำไปเรื่อยๆ จิตจะเริ่มสงบบ้าง แต่ต้องสังเกตุเหมือนกัน ว่าจิตรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของท้องหรือปล่าว เพราะส่วนใหญ่จิตจะเคลื่อนออกมานิดหนึ่ง แล้วจะสร้างความรู้สึกว่าท้องเคลื่อนไหวอยู่ แล้วจิตจะรู้สึกสบาย แล้วเราจะเริ่มเคลิ้ม ซึ่งบางทีเราหลับไปเลยก็มี ซึ่งการรู้สึกตัวจริงนั้น จิตจะสดชื่น ไม่ซึมๆ ทำไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนขาจะเริ่มชา และปวดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะฝึกไปอีกสักพักหนึ่งก็จะพอ สำหรับการเจริญสติในรูปแบบสำหรับวันนั้น..
ขอต่อการเจริญสติแบบที่สองในบทความหน้านะครับ..
สอนสภาวะ หลง กับลูกๆ
พอเราตั้งกฏนี้ขึ้นมา เด็กจะเงียบ แต่สักพัก เขาจะเริ่มพูดเรื่องที่เขาคิดขึ้นมาซึ่งแน่นอน ไม่ใช่เรื่องในห้องนอนอยู่แล้ว เราลองทักแค่สักครั้ง สองครั้ง เด็กอาจจะงงอยู่บ้าง เราต้องอธิบายว่า พูดเรื่ิองอะไรที่เรียกว่าไม่หลง เช่น ห้องนี้หนาวจัง หมอนนี้นุ่มจัง ห่มผ้าห่มแล้วร้อน สักพักก็ลองเริ่มกันใหม่ เด็กจะเงียบนานขึ้น สักพักเด็กจะขอต่อรองที่จะขอหลงโดย ขอเล่าเรื่องนอกห้องนอน เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ก็จะสอนว่า ไม่ได้ห้ามไม่ให้หลง.. ขอแค่ให้รู้ว่าหลงก็พอ แต่เมื่อไหร่ ที่เขาเล่าเรื่องใหม่ที่เกี่ยวกับเรื่องนอกห้อง เราจะต้องรีบทักทันทีว่า หลงไปแล้วนะ เพราะไม่ได้ขออนุญาติหลงก่อน ทำแค่วันละ 2-3 ครั้งก็พอแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นเด็กอาจจะเครียดได้ จนไม่ยอมนอนได้เลย
วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
เจริญสติ คืออะไร (ตอนที่ 2)
ผู้เขียนขออธิบายนิยามของคำว่า "หลง" แบบง่ายๆ อย่างนี้นะครับ "สิ่งที่เรากำลังทำทั้งทางกายและทางใจ แล้วที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ทำขณะนั้น ถือว่า "หลง" ทั้งหมด.. ( ขออภัยผู้อ่านที่อ่านมาถึงตอนนี้แล้วยัง งง ขอให้อ่านไปเรื่อยๆ ก่อนนะครับ)
ก่อนที่จะยกตัวอย่าง ขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า "หลง" ในทางพุทธ ก่อนนะครับ ว่าช่องทางที่หลงมีทางไหนบ้าง
- หลงทางหู จากการได้ยิน
- หลงทางตา จากการเห็น
- หลงทางจมูก จากการได้กลิ่น
- หลงทางลิ้น จากการรสชาติ
- หลงทางกาย จากการสัมผัสทางกาย
- หลงทางใจ จากความคิด
สำหรับตัวอย่างนี้ ผู้เขียนขอออกตัวก่อนนะครับ เป็นการยกตัวอย่าง แบบผู้ที่เริ่มต้นใหม่จริงๆ นะครับ สำหรับท่านที่เข้าใจสภาวะของความรู้สึกแล้ว รบกวนอย่าเพิ่งตำหนิกันนะครับ.. สมมติว่า ท่านกำลังรับประทานข้าวอยู่ แล้วเกิดสภาวะในระหว่างรับประทานอาหารขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสภาวะต่อไปนี้พออนุโลมว่ายังไม่หลงเช่น รับรู้รสชาติเค็ม เห็นจานที่สวย ได้กลิ่นอาหารที่หอมมาก เคี้ยวข้าวแล้วรู้สึกว่าข้าวแข็งไปหน่อย ได้ยินเสียงดังในร้านอาหาร.. สำหรับตัวอย่างสภาวะต่อไปนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างรับประทานอาหาร ที่ผู้เขียนขอเรียกสภาวะเหล่านี้เป็นหลงทั้งหมด เช่น ท่านเห็นรถที่ผ่านหน้าร้าน มีความคิดว่าร้านนี้ไม่น่าขายได้ดีขนาดนี้เลย เพราะรสชาติไม่ได้เรื่อง มีความคิดว่่าข้าวร้านนี้คงใช้ข้าวราคาถูกแน่ๆ ข้าวถึงได้แข็งขนาดนี้ มีความคิดว่าทานข้าวเสร็จแล้ว จะไปซื้อขนมกินอีก นั่งกระดิกขา เวลารับประทานอาหาร อ่านหนังสือพิมพ์พร้อมกับรับประทานอาหาร..
จากตัวอย่าง ท่านคงพอจะเริ่มเห็นแล้วว่า.. แม้นว่าเรากำลังรับประทานอาหารอยู่ แต่เราจะพบว่าเกิดสภาวะหรือกิจกรรมอื่นมากมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่เลย.. และถ้าสังเกตุลงไปอีกจะเห็นว่าช่องทางที่เราหลงมากที่สุดก็คือ ทางใจ หรือ "ทางความคิด" นั่นเอง
ดังนั้นเมื่อมีช่องทางหลงหลายทางอย่างนี้.. ถ้าจะต้องคอยระวังไม่ให้หลงทุกช่องทาง.. คงจะบ้าไปเสียก่อนแน่.. งั้นเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ยอมหลง ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เราจะฝึกรู้สภาวะที่เกิดทางใจ.. โดยสำหรับผู้ที่เริ่มต้น ให้ฝึกรู้สภาวะที่เกิดขึ้นทางความคิดที่แปลกปลอมจาก กิจกรรมที่อยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นหลักก่อน เมื่อเกิดความชำนาญขึ้น ท่านจะเริ่มรู้ถึงสภาวะอื่นๆ ที่นอกเหนือความคิดได้ ซึ่งตอนนี้ผู้เขียนขอให้ท่านใจเย็นๆ ทำแบบนี้ไปก่อนเพื่อให้เข้าสภาวะ "หลง" อย่างแท้จริงขึ้นมาก่อนนะครับ
เมื่อท่านเริ่มฝึกเจริญสติ และเริ่มเข้าใจกับสภาวะหลงแล้ว ท่านจะเกิดสภาวะหนึ่งขึ้นมา ที่เรียกว่า สภาวะของการยอมรับไม่ได้ว่า ทำไมเราถึงหลงบ่อยขนาดนี้ ทำไมเราถึงควบคุมมันไม่ได้ จึงเกิดความตั้งใจขึ้นมา หรือเรียกว่า "ดักดู" เพื่อจะได้เห็นว่า เมื่อมีความคิดโผล่มาเมื่อไหร่ จะรู้ทันทีว่าหลงไปคิดแล้ว จะได้ไม่หลงนาน.. ผู้เขียนขอรีบเตือนไว้ก่อนเลยนะครับ เป็นวิธีการที่ผิด เพราะนั้น เราจะมีความรู้สึกว่า จะไม่เห็นสภาวะอะไรเกิดขึ้นเลย เหมือนกับว่า ไม่หลงเลย หรือรู้สึกตัวตลอดเวลา.. โดยที่สภาวะมันจะนิ่งๆ เบลอๆ แน่นๆ หนักๆ หรือที่ทางพุทธเรียกว่า "เพ่ง" ซึ่งไม่ตรงกับนิยามของคำว่า "พุทธ"..
สำหรับสภาวะ " เพ่ง" ที่กล่าวถึงนั้น สำหรับคนเมือง และเป็นนักคิดแบบท่านผู้อ่านหลายๆท่าน รวมทั้งผู้เขียนด้วยแล้ว.. ขอบอกคำเดียวว่า ช่วงเริ่มต้น ไม่ต้องไปห่วงว่าจะ "เพ่ง" หรือปล่าวนะ.. เพราะธรรมชาติของจิตของคนเหล่านี้ ไม่ค่อยอยู่นิ่งอยู่แล้ว เพราะมีสิ่งกระทบมากมาย ถ้าเปรียบเสมือนก็ประเภทลิงศาลพระกาฬ มีอะไรผ่านมา กระโดดเกาะหมด มีของใหม่ก็ทิ้งของเก่า พอไม่ชอบก็ทิ้ง เป็นจิตที่หิวอยู่ตลอดเวลา.. ดังนั้นเมื่อท่านที่ฝึกมาแล้ว มีความรู้สึกว่าเพ่งหรือปล่าว ให้จัดสภาวะนี้เป็นหลงได้เลย เพราะนั้นหมายความว่า เรากำลังคิดว่าเพ่งหรือปล่าว หรือเราหลงไปกับความคิดเรียบร้อยแล้ว..
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ คงพอจะช่วยให้ท่าน ที่อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะเริ่มสนใจที่จะเจริญสติ กันบ้างแล้วนะครับ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ถ้าผู้เขียนจะบอกว่า การเจริญสติ นี้เป็น การปฎิบัติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจหรือเพิ่มความเบื่อหน่ายเข้าไปอีก หรือปล่าว แต่เจตนาของผู้เขียนสำหรับบทความนี้เพียงแค่นำเสนอว่า การปฎิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่ต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ ก่อนเสมอไป..
วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
เจริญสติ คืออะไร (ตอนที่ 1)
เหตุที่ผู้เขียนทำไมต้อง พูดถึงสติบ่อย เพราะเป็นเส้นทางที่จะนำเราสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์นั่นเอง..
ก่อนที่จะเขียนต่อไป.. สติที่กล่าวถึงในบทความนี้ ไม่ใช่สติที่ใช้ในทางโลกนะครับ.. สติทางโลกที่เราเข้าใจกันได้แก่ ขับรถได้ เดินข้ามถนนได้ อ่านหนังสือได้ เป็นต้น แต่เป็นสติในทางพุทธศาสนา จะเป็นสติที่จะเห็นสภาวะ ทีี่เกิดขึ้นที่กายที่ใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เพื่อจิตจะเกิดการเรียนรู้ว่า กายกับใจนี้ ตกอยู่ได้ "ไตรลักษณ์" ทั้งสิ้น หรือเรียกการฝึกจิตนี้ว่า "วิปัสสนา" ที่ก่อให้ จิตมีปัญญาขึ้นมาได้ หรือที่เรียกว่ามี "สัมมาฐิทิ"
การเจริญสติที่จะกล่าวถึงในบทความนี้.. ผู้เขียนขอออกตัวไว้ก่อนนะครับ.. เนื่องด้วยผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้ที่มีจริตในทางสมถกรรมฐาน ที่จะฝึกจิตให้สงบนิ่งจนเข้า ฌาน ได้(เขียนคำนี้ที่ไร หาตัว ฌ เฌอ ไม่เคยเจอสักที) และเมื่อออกจากฌานแล้ว ด้วยกำลังของสมาธิของการเข้าฌาน จะมีจิตผู้รู้ขึ้นมา ซึ่งจิตผู้รู้นี้ จะได้นำมาเรียนสภาวะที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ หรือการเจริญวิปัสสนา.. (ขอเขียนสั้นๆ นะครับเพราะมีความรู้เท่านี้)
ดังนั้นเมื่อจริตของผู้เขียนไม่ได้เดินในแนวนั้น ผู้เขียนจึงต้องอาศัย เจริญสติในชีวิตประจำวันแทน เพื่อเป็นการฝึกจิต ให้จำสภาวะที่เกิดขึ้นกับการกับใจ จนเกิดความเคยชิน เมื่อเกิดสภาวะเดิมบ่อยๆ จิตจำเริ่มสภาวะได้ เมื่อเกิดสภาวะแบบนั้นอีก สติจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แบบไม่ได้จงใจหรือตั้งใจ ที่เราเรียกว่า สติอัตโนมัติ หรือจิตตั้งมั่นแบบเป็นขณะ (หรือเรียกว่า ขณิกสมาธิ) ขึ้นมา ซึ่งเป็นจิตที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการ เจริญวิปัสสนา ได้เช่นเดียวกัน
การที่เราจะฝึกเจริญสตินั้น.. สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องรู้สึกตัวให้เป็นก่อน.. จากบทความ "คำว่า "รู้สึกตัว" เป็นอย่างไร" ท่านผู้อ่่านจะเห็นได้ว่า "รู้สึกตัว" เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก เพราะการจะแยกระหว่างรู้สึกตัวกับความคิดไม่ใช่จะทำได้ง่ายเลย
แต่ด้วยพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านได้เมตตาแนะนำว่า วิธีที่จะรู้สึกตัวให้เป็นนั้น เราสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับคำว่า "รู้สึกตัว" ซึ่งก็คือ "ไม่รู้สึกตัว" หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า "หลง" นั่นเอง
สำหรับคำว่า "หลง" นั้นเป็นคำหรือสภาวะที่ทุกท่านหรือทุกคนในโลกนี้ไม่ค่อยยอมรับกัน.. เพราะจะมีความเข้าใจว่า สติทางโลก ที่กล่าวไปแล้วนั่นแหละ เป็นเครื่องรับรองอยู่แล้วว่า ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยหลงกันเลย..
เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจ กับคำว่าหลง ผู้เขียนขอลอง สอบถามท่านผู้อ่านกันดูว่า ท่านเคยทำหรือเป็นแบบนี้บ้างไหม..
- ตื่นนอนมา ความรู้สึกแรก ที่สะดุ้งตื่น คิดถึงเรื่องที่ฝัน คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ หยิบมือถือมาเล่นอินเตอร์เน็ต
- ตอนถ่ายทุกข์ คิดถึงเรื่องที่ฝัน คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ หยิบมือถือมาเล่นอินเตอร์เน็ต
- ตอนแปรงฟัน คิดถึงเรื่องที่ฝัน คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ ดูหน้าตัวเองในกระจก
- ตอนทานข้าว คิดถึงรสชาติอาหารที่แสนอร่อย คิดถึงเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ หยิบมือถือมาเล่นอินเตอร์เน็ต
ผู้เขียนของยกตัวอย่างเท่านี้.. ไม่ทราบว่าท่านใดเคยทำแบบนี้บ้างหรือปล่าว.. ถ้าเคย ในทางธรรม พฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่าหลงทั้งหมด เพราะ ท่านนั้นไม่รู้สึกตัวจากสภาวะของกายและใจ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยที่ท่านไม่ได้สนใจว่า..
- พอสะดุ้งตื่นมา ไม่รู้ว่าร่างกายเรานอนตะแคงอยู่หรือนอนหงายอยู่
- ไม่รู้ว่าถ่ายทุกข์วันนี้กว่าจะถ่ายออก ใช้เวลานานไหม ออกมาก ออกน้อยหรือปล่าว
- ไม่รู้ว่าแปรงฟัน เริ่มจากบริเวณไหนก่อน บนหรือล่าง ตอนจะเสร็จ จบที่บริเวณไหน
- ไม่รู้ว่าคำแรกเคี้ยวข้าวด้านไหน คำสุดท้ายรสชาติเป็นอย่างไร
บางท่านอาจจะเริ่มเถียงว่ายังจำได้.. แต่ช้าก่อนจากนิยามของ "รู้สึกตัว" เราจะต้องรู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ในปัจจุบันขณะหรือปัจจุบันสันตติ (รู้ตามแบบติดๆ) ดังนั้น ถ้าเราหลุดจากนิยามนี้แล้ว นั่นแหละท่านได้ "หลง" ไปเรียบร้อยแล้ว หวังว่าท่านผู้อ่าน มาถึงตรงนี้ คงพอจะเริ่มยอมรับบ้างแล้วนะ.. มันหลงตลอดเวลาจริงๆ
ผู้เขียนเอง ก็ชักเริ่มกลัวว่า ผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้.. อาจจะเริ่มงง.. รู้สึกตัวก็เข้าใจยาก.. หลงก็หลงตลอด.. แล้วมันเจริญสติอย่างไรละเนี้ย.. อาจจะเริ่มท้อ และดูว่ามันคงจะยากแล้วสำหรับในชีวิตนี้ที่จะทำได้..
ด้วยความหมายของคำว่า "พุทธ" หรือ "ผู้รู้" ดังนั้นหน้าที่ของชาวพุทธ ก็คือมีหน้าที่รู้.. แล้วรู้อะไร.. ก็รู้ว่า "หลง" ก็พอแล้ว.. ไม่ต้องดัดแปลงหรือทำอะไรบางอย่างที่นอกเนื่องจากรู้ เพราะนั่นเป็นการกระทำที่หลุดจากคำว่า "พุทธ" ไปแล้ว
ขอกลับมาที่ "หลง" กัน.. ปกติเราจะหลงกันเป็นพื้นอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดเราไปรู้ว่าเรากำลังหลงอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นละ.. แสดงว่าหมายตอนนั้น เราไม่หลง ใช่หรือไม่ ซึ่งเมื่อเราไม่หลง เรากำลัง "รู้สึกตัว" ใช่หรือปล่าว..
วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556
คำว่า "รู้สึกตัว" เป็นอย่างไร
แล้วรู้สึกตัวมันเป็นอย่างไร.. ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าท่านเข้าใจว่าอย่างไร แต่สำหรับผู้เขียนเองแล้ว เข้าใจความหมายของคำว่า "รู้สึกตัว" ตามที่ได้สัมผัสมาเป็นแบบนี้ ซึ่งอาจจะยังผิดอยู่ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากจะถ่ายทอด เผื่อท่านผู้รู้ที่มาอ่านบทความนี้ จะได้แนะนำและตักเตือน ผู้เขียนจักขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ครับ
บทความนี้พยายามที่จะสื่อออกทางภาษาเขียนให้มากที่สุด ซึ่งคงจะไม่ตรงสภาวะที่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นแนวทางในการสังเกตของแต่ละท่านครับ..
ผู้เขียนขอเริ่ม ด้วยการมาแบ่ง คำว่า "รู้สึกตัว" ออกเป็น 2 คำ คือ รู้สึก + ตัว
"รู้สึก" เป็นสภาวะที่รับรู้ ได้โดยตรง จากทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยปราศจากการปรุงแต่ง จากความคิด ความจำ ความเข้าใจ ความรู้ คำบอกเล่าใดๆ ทั้งสิ้น.. แล้วแบบไหนที่เรียกว่า ความรู้สึก แบบไหนที่ไม่เรียกว่าความรู้สึก..
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแบบนี้นะครับ.. ท่านเห็นคำว่า "ลำไย" กับคำว่า "ลิ้นจี่" แล้วคิดถึงอะไรบ้าง
ผู้เขียนเข้าใจว่า บางท่าน คงจะ นึกถึงต้นของมัน นึกถึงรูปร่างลักษณะรูปร่างของมัน นึกถึงลักษณะของการแกะเพื่อเอาเนื้อในออกมารับประทานทาน หรือนึกถึงรสชาติของมัน..
แต่เมื่อเรากลับไปดูที่นิยามของ "รู้สึก" สิ่งที่ท่่านนึกคิดเหล่านั้น มันไม่ใช่ความรู้สึก เพราะ เราอาศัยความจำ ที่เราได้ประสพมา นำมาปรุงแต่งออกมาเป็น "ความคิด"
แล้วถ้าผู้เขียนถามใหม่ว่า.. ท่านสามารถอธิบายความแตกต่างความหวานของ "ลำไย" และ "ลิ้นจี่" ออกมาเป็นคำพูดที่ชัดเจนเพื่อให้คนที่ไม่เคยทานผลไม้ สองชนิดนี้ได้หรือไม่.. บางท่่านอาจจะอธิบายได้อย่างละเอียด แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า คนที่ไม่เคยทาน สามารถเข้าใจรสชาติ มันได้เหมือนที่เราบอกได้หรือไม่.. เพราะความรู้สึกนั้น เป็นสภาวะที่ต้องเกิดขึ้น ของคนนั้นเฉพาะตน
ขออีกตัวอย่างนะครับ.. ท่านลองกระดิกนิ้วเท้า (ต้องขออภัย ที่ต้องยกตัวอย่างแบบนี้) ลองสังเกตุดูว่า รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของนิ้วเท้า โดยที่ไม่ต้องใช้ตามองได้ไหม.. ถ้าได้..นั่นแสดงว่า กำลังรู้สึกอยู่
ท่านพอเข้าใจความหมายของ รู้สึกได้บ้างนะครับ เพราะความรู้สึกกับความคิดนั้นจะมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่.. ช่วงแรกของการฝึก ท่านอาจจะยังไม่สามารถแยกเส้นบางๆ ระหว่าความรู้สึก กับความคิดได้ แต่ไม่ต้องห่วงครับ.. เมื่อวันที่นั้น เราจะเห็นได้เอง..
ความคิด.. สามารถแปลออกมาเป็นภาพ เสียง คำพูดได้
ความรู้สึก.. เป็นสภาวะที่รู้ได้เฉพาะตน ไม่สามารถแปลออกมาเป็น ภาพ เสียงหรือคำพูดได้
ผู้เขียนขอกลับมาที่คำว่า "ตัว".. ซึ่งก็คือ กายกับใจ ของเรานั่นเอง
ดังนั้นผู้เขียนขอสรุปแบบกำปั้นทุบดินเลยนะครับว่า.. รู้สึกตัวก็คือ การรู้สึกถึงสภาวะที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ในปัจจุบันขณะ หรือปัจจุบันสันตติ (แบบตามติดๆ)
ผู้เขียนขอจบบทความไว้อย่่างนี้ก่อนนะ.. ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งหงุดหงิดเลยนะครับ เพราะบทความต่อไป จะต้องพึ่งผลความนี้ด้วย คอยติดตามต่อไปนะครับ..
ชีวิตนี้ต้องการอะไรกันแน่
เข้าใจว่าข่าวน่าจะพยายามนำเสนอว่า.. การซึ้งในรสพระธรรมถึงกับยอมสละทรัพย์สมบัติมากมายขนาดนั้น..
คำว่า.. ซึ้งในพระธรรม.. ไม่รู้แปลว่าอย่างไร..
ถ้าเป็นสมัยก่อนผู้เขียนเองคงมีความคิดว่า.. ทำไมเขาถึงคิดอย่างนั้นนะ มีเงินมากขนาดนั้น อยู่ได้อย่างสบาย..
ถ้ามามองกันจริงๆ สิ่งที่เราต้องการคือความสุข ไม่ใช่เงินทอง.. แต่เงินทองก็ซื้อความสุขได้นะ.. ไม่ใช่ฤา
ลองสังเกตุไหม.. ความสุขที่เกิดจากเงินทอง มันเป็นความสุขที่ต้องพึ่งปัจจัยจากภายนอกเป็นหลัก..
ไม่ใช่เศรษฐีเลยไม่แน่ใจว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรกันบ้าง.. แต่ขอลองยกตัวอย่างว่า.. มีเงินมากมายสามารถกิินเหล้าดีๆ แพงๆ แต่ถ้าถามว่า ถ้าทานคนเดียวกับทานกันคนที่รู้จัก อย่างไหนจะดีกว่ากัน.. มีเงินไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ เพื่อให้คนอื่นมาสนใจ หรือใส่แล้วไม่ให้คนอื่นเห็น อย่างไหนดีกว่ากัน..
ความสุขเหล่านี้.. มันคล้ายกับเป็นความสุขที่สมบูรณ์ ที่มนุษย์ทุกคนโหยหา.. แต่ความจริงพระพุทธเจ้า ท่านได้ค้นพบว่า.. ความสุขที่แท้จริงนั็น สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยพึ่งพาคนอื่น เราก็สามารถมีความสุขได้ทุกเวลาและไม่จำกัดสถานที่..
ทำได้ขนาดนั้นเลยเหรอ.. ก็ลองไปถามพระลูกเศรษฐีมาเลเซียดูซิ ว่าจริงไหม.. :-b
บทความนี้.. อยากบอกสั้นๆ แค่รู้สึกตัวให้เป็น มีสติที่เป็นอัตโนมัติ.. แล้วลองเปรียบเทียบความสุขที่เคยสัมผัสมาว่ามีความแตกต่างกันมากขนาดไหน..
ลองฝึกดูนะครับ.. แล้วจะรู้ว่ามันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ
วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
พระศาสดาของศาสนาพุทธ
แต่ในความเป็นจริง การกล่าวคำเหล่านั้น เป็นการตำหนิ พระศาสดาของศาสนาพุทธอยู่นะ ถ้าท่านเหล่านั้นยังคิดว่าเป็นชาวพุทธ หรือไม่ใช่ชาวพุทธ ควรรู้ไว้ว่า พระธรรมวินัย คือศาสดาของพระพุทธศาสนา ที่ต่อจากองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับพระพุทธรูป ที่คนรุ่นหลังนำมาเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดกันว่าเป็น ตัวแทนของศาสนาพุทธ..
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำในการต่อต้านการกราบไหว้บูชา ขอพร จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่พอมาถึงชนรุ่นหลัง ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นชาวพุทธ กลับกลายมาเป็นผู้นำในการกราบไหว้บูชา ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แทนที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานไว้..
..แต่สิ่งใดที่เข้าใจผิด ก็ไม่ร้ายแรงไปกว่า เข้าใจผิดที่ว่า กายกับใจเป็นของเรานี้แหละ..
วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ไปทำงานที่ลาวกับการฟังธรรม
ช่วงนี้ต้องเดินทางไปทำงานที่เมืองหงสา ประเทศลาว ทุกเดือน..
เดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพ ไปลงที่น่าน ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วต่อรถไปที่ด่านห้วยโก๋น จ.น่าน ประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วต้องต่อรถเข้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหงสา สปป. ลาว อีกประมาณ 30 นาที และจากโครงการก่อสร้างไปทีเมืองหงสา อีกประมาณ15 นาที
เวลาที่เดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง บวกกลับอีก 5 ชั่วโมง ทุกเดือน เป็นเวลาที่เสียไปเยอะเหมือนกัน..
การฟังธรรมะ ระหว่างเดินทางก็เป็นการฝึกให้จิต ได้คลอเคลียร์กับธรรมะ ไว้ก็ดีเหมือนนะ..ดีกว่านั่งเหมอให้จิตหลงไปหลงมาตลอดเวลา..
จิต มันเกิด-ดับ ตลอดเวลา
จิต.. หน้าที่ของจิตคือ รับรู้
ช่องทางที่จิตจะไปรับรู้.. ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ซึ่งเกิดถ้า จิต มันไม่ได้ เกิด-ดับ แต่จิตมันวิ่งไป-วิ่งมา มันคงเหนื่อยน่าดู
ตาเห็นรูป จิตวิ่งไปทางตา.. แป๊ปเดียว มันสิ่งไปที่หูอีก ไปที่หูยังไม่รู้เรื่อง แอบหนีไปคิดอีกแล้ว..
แต่ก็เพราะจิต เกิด-ดับ เร็วมาก จนเราเข้าใจว่าจิต มันวิ่งไปวิ่งมา เลยมีความรู้สึกว่า จิตเมื่อตอนเด็กๆ กับจิตตอนนี้เป็น จิตดวงเดียวกัน..
แค่ได้เห็น เกิด-ดับได้บางครั้ง จะรู้สึกใจหายว่า จิตก่อนหน้านี้ได้ ตายจากเราไปแล้ว จะเกิดความรู้สึกเสียดาย หรือบางครั้งจะรู้สึกว่า ตัวเราได้ ได้ตายไปแล้ว..
การเห็นว่าร่างกาย มันเป็นภาระ ดูจะยอมรับได้ง่าย แต่การที่จะยอมรับว่า จิตมันเกิดดับตลอดเวลา ดูจะเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน..
วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ยอมรับความจริงมากขึ้น
เกือบสองปีที่ผ่าน.. เห็นการเปลี่ยนแปลงในจิตในใจเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก.. ยอมรับความจริงได้มากขึ้น
ทำไมถึงบอกว่ายอมรับความจริงได้มากขึ้น..
ถ้าจากบทความที่ว่า..ขอยอมเพ่ง.. ดีกว่าหลงนาน
จะเห็นได้เลยว่า.. เมื่อเริ่มเห็น จิตตัวเองได้ สิ่งที่ยอมรับไม่ได้คือ ควบคุมจิตให้สงบไม่ได้ มันจึงเกิดการดิ้นรน ที่จะทำอย่างไรก็ได้ ที่จะควบคุมมันได้
พอดิ้นรนเรื่อยๆ เลยเกิดอาการยอมแพ้.. แต่ยังไม่ยอมรับนะ มันจะเกิดทางสองแพร่งขึ้นมา ว่าเลิกทำหรือลองทำต่อ..
ทำอะไรก็ผิด.. แต่ไม่ทำผิดกว่า..
เลยปฏิบัติต่อ.. สิ่งที่ได้คือจิตที่ตั้งมั่นเพิ่มขึ้น จะเริ่มเห็นว่าพอไม่ยุ่งกับมัน.. มันก็สงบได้เหมือนกัน..
ไม่ได้เขียน Blog มาเกือบ 2 ปี
จากบทความบล็อกเก่าๆ.. เห็นเลยว่า การปฏิบัติธรรม ทำอะไรก็ผิด..
ถ้าพูดจริงๆ.. เพิ่งรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่าง ความหลงและรู้สึกตัว จริงๆ เมื่อประมาณ กลางปี 2555 นี้เอง..
คิดแล้วยังใจหายเลยว่า.. แล้วสองปีที่ว่าปฏิบัติธรรมมันไปหลงอยู่ไหนเนี้ย..
(ไม่รู้ว่าบทความนี้.. เมื่อกลับมาอ่านอีก อาจจะพูดแบบนี้อีกก็ได้มั้ง)